About

บัญญัติ 15 ประการในการพัฒนาร้านค้าปลีก

บัญญัติ 15 ประการในการพัฒนาร้านค้าปลีก

1.เริ่มต้นที่ทัศนคติ

ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) หรือร้านโชว์ห่วย เป็นร้านจำหน่ายสินค้า อุปโภค-บริโภคที่เป็นรูปแบบเก่า การจัดวางสินค้าไม่เป็นระเบียบ ไม่มีการติดป้ายราคา ส่วนใหญ่เป็นร้านห้องแถวที่มีพื้นที่ไม่มากนัก การจัดการเป็นแบบครอบครัว ไม่มีการทำบัญชีอย่างเป็นระบบ ไม่ได้ใช้ความรู้ในเรื่องการจัดเรียงสินค้าและการบริหารสต๊อกเท่าที่ควร ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียง มีการประมาณการกันว่าร้านค้าประเภทนี้มีอยู่ประมาณ 2 แสนร้านค้าทั่วประเทศ
จากงานวิจัยของสถาบัน SMEs เครือข่ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (..45) พบว่ากว่า 60 % ร้านค้าแบบดั้งเดิมเป็นกิจการที่มีอายุกว่า 12 ปี รองลงมาคือ ช่วงอายุกิจการ 4 – 7 ปี จำนวน 27 % โดยพบว่ากลุ่มนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดกิจการร้านค้าปลีก ได้ทำอาชีพอื่นมาก่อน และส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานบริษัท และข้าราชการและมีความต้องการมีจะมีธุรกิจหรือกิจการส่วนตัว
เมื่อพิจารณาเรื่องสาเหตุที่เปิดกิจการ และสนใจธุรกิจนี้ จำนวน 58 % เป็นกิจการที่รับช่วงต่อจากคนรุ่นก่อน จำนวน 38 % ต้องการมีธุรกิจส่วนตัวเป็นของตนเอง เนื่องจากมีความเข้าใจว่าเป็นกิจการที่ทำได้ง่ายกว่าธุรกิจอื่น ไม่ต้องมีความรู้ก็สามารถทำได้ และอีก 4 % พบว่าสาเหตุที่เปิดกิจการเพราะว่างงาน หรือต้องการหารายได้เสริม   จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เจ้าของร้านส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ผิดต่อ การทำธุรกิจและการสืบทอดกิจการจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ทำให้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเพื่อมุ่งหวังที่จะแข่งขันในตลาดแต่อย่างใด ทำให้ร้านค้าปลีกดั้งเดิม มีรูปแบบการบริการที่ยังคงสภาพเหมือนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ขาดการพัฒนาให้ทันสมัย ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค
ดังนั้น การบริหารงานที่มีรูปแบบล้าสมัย ไม่ทันต่อความต้องการของลูกค้า จึงเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องนำมาทบทวน และหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข โดยเปลี่ยนแปลงทัศนคติการประกอบการร้านโชว์ห่วย ในอดีตที่จัดร้านแบบอุดอู้ไม่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้หยิบ หรือเลือกซื้อเอง มาเป็นร้านค้าแนวใหม่ที่มีการบริหารอย่างทันสมัย มีสินค้าให้เลือกซื้อหลายชนิด ฯลฯ

2.ผู้บริโภคเลือกอย่างไร

ในปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของคนในประเทศได้เน้นความสะดวกรวดเร็วและทันสมัยมากขึ้นและขนาดของครอบครัวที่เปลี่ยนมาเป็นขนาดเล็ก จึงทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป นิยมซื้อสินค้าที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่แทนการซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกใกล้บ้าน เนื่องจากร้านค้าปลีกใกล้บ้านไม่สามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องการซื้อสินค้าได้

3.จุดเด่นของ โชว์ห่วย

สถิติการขอยกเลิกทะเบียนการค้าของร้านค้าปลีกที่ฝ่ายข้อมูลสถิติ กรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ ได้รวบรวมไว้ว่าในปี 2543 ถึงปี 2544 (ถึงเดือนกันยายน) มีจำนวนถึง 14,352 ร้าน ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า ไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาการบริหารเพื่อเผชิญกับการแข่งขันในตลาดได้
ผู้บริโภคตัดสินใจมาซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่มากขึ้น เนื่องจากมีรูแบบที่ทันสมัย สะดวกสบาย สามารถเลือกซื้อของเองได้ มีสินค้าหลายประเภท ที่สำคัญคือมีการเปิดบริการทุกจุด ในขณะที่ โชว์ห่วยยังไม่มีการพัฒนากิจการของตัวเองให้ทันสมัย จนทำให้ส่วนแบ่งการตลาดลดลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จากการสำรวจด้านการตลาด พบว่าสินค้าบางประเภทสามารถขายได้ดีในร้านโชว์ห่วย เช่น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำแข็ง น้ำอัดลม และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการบริโภคทันที และไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง หรือมีความยุ่งยากในการซื้อหา นอกจากนั้น ยังมีสินค้าที่ต้องการในเวลาจำหน่ายเช่น เครื่องปรุงอาหารในครัว เครื่องใช้ส่วนตัวที่หมดแล้ว แต่ไม่ได้มีการซื้อเตรียมไว้ก่อน ก็ต้องพึ่งพาร้านโชว์ห่วย เพื่อซื้อสินค้าเหล่านั้นใช้ให้ทันกับความต้องการ ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถประกอบอาหารต่อไปได้ หรือต้องเดินทางไปไกลเพื่อจะซื้อแต่ก็ไม่คุ้มกับราคาสินค้าที่ถูก
เพียงแต่ร้านโชว์ห่วยเหล่านี้ ต้องปรับปรุงและพัฒนากิจการของตนให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า การจัดหาสินค้าที่หลากหลาย มีความต่อเนื่องในการหาสินค้าเข้าร้าน ก็จะทำให้ โชว์ห่วยมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ไม่ต้องปิดกิจการลงจำนวนมากเหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะร้านโชว์ห่วยเองมีลักษณะเฉพาะ ในเรื่องของความสะดวก ใกล้บ้านพัก คุ้นเคยกับเจ้าของร้าน การคงเอกลักษณ์ของ โชว์ห่วย ในเรื่องการให้บริการในฐานะเพื่อนบ้าน จึงเป็นจุดสำคัญที่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงซื้อสินค้าจากร้านประเภทนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
4.ผู้ประกอบการต้องปรับตัว

ผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก ความหลากหลายของสินค้าและมีรูปแบบความบันเทิงอื่นๆ อยู่ภายใน ส่งผลกระทบต่อร้านค้าขนาดเล็ก โดยเฉพาะร้านโชว์ห่วยอย่างรุนแรง ร้านค้าเหล่านี้จำนวนมากต้องปิดกิจการลง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังคงเปิดดำเนินการและพบว่ายอดขายลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ร้าน โชว์ห่วยอยู่รอดต่อไปได้นั้น คือตัวผู้ประกอบการเอง การเข้าใจสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและรู้จักปรับตัวเพื่อแข่งขัน คือคุณสมบัติที่สำคัญ
แนวทางที่เจ้าของร้านโชว์ห่วยทำได้ขั้นต้นคือ เร่งปรับตัวโดยลดจุดด้อย เพิ่มจุดแข็ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น ต้องมีความพร้อมทั้งในด้านการจัดตกแต่งร้านให้มีความสะอาด สวยงาม จัดหมวดหมู่สินค้าให้เป็นสัดส่วน หรือสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อดึงดูดลูกค้า และรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย
นอกจากนี้ ในด้านของการบริการ สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของร้านโชว์ห่วย ที่มีมานานแล้วก็คือ อัธยาศัยไมตรี ที่ดีของเจ้าของร้านกับคนในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความได้เปรียบสำคัญ ที่จะช่วยยึดเหนี่ยวลูกค้า ให้มีความประทับใจต่อร้านโชว์ห่วย
ส่วนในด้านราคา แม้ว่าร้านโชว์ห่วยจะมีต้นทุนในการซื้อสินค้าต่อหน่วยสูงกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ แต่ร้านโชว์ห่วยยังมีความได้เปรียบในส่วนของต้นทุนการดำเนินการที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับร้านค้าขนาดใหญ่ เพราะว่าไม่มีงบโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการลงทุน ทั้งจากในเรื่องค่าขนส่ง ทำให้โอกาสที่จะแข่งขันในด้านราคายังมีความเป็นไปได้ นอกจากนี้ การเลือกใช้ช่องทางการซื้อสินค้าที่มีอยู่หลากหลายในปัจจุบัน ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการจัดหาสินค้าที่มีต้นทุนถูกลง และเสริมสร้างความได้เปรียบด้านราคาได้ อีกด้านหนึ่งที่สำคัญในการช่วยให้ร้านโชว์ห่วยอยู่รอดได้ก็คือ การจัดการและบริหารงานในเรื่องระบบบัญชี แบบง่ายๆ สามารถทำเป็นรายรับ รายจ่าย เช็คยอดสินค้า เข้า และ ออก เพื่อรู้จำนวนที่แน่นอน และติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อทันต่อความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
เมื่อผู้ประกอบการร้านค้าปลีก ทำการปรับปรุงร้านค้าของตัวเองแล้ว มาตรการต่างๆ ของรัฐที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย โดยเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงที่ประคับประคองผู้ประกอบการให้มีความอยู่รอด โดยจัดอบรมให้ความรู้ ฝึกทักษะในการบริหารงานร้านค้า และจัดให้มีศูนย์รวมซื้อและกระจายสินค้า ยกตัวอย่างบริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็ง 
5.เรียนรู้กลยุทธ์ร้านค้าปลีกสมัยใหม่

ร้านค้าสะดวกซื้อ หรือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่เป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่เน้นบริการแก่ผู้บริโภคเป็นหลัก เปิดบริการ 24 ชม. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อที่ต้องการซื้อสินค้าเร่งด่วนหรือจำเป็น มีการขยายสาขาเพื่อให้ใกล้แหล่งชุมชนและความสะดวกของผู้บริโภค เน้นสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารด่วน และเครื่องดื่ม ตลอดจนการบริการ โดยให้ความสะดวกในการรับบริการชำระค่าสาธารณูปโภคหลายๆ อย่างไว้ในร้านเดียวกัน ทำให้ได้รับความนิยมในเวลาไม่กี่ปี ในการบริหารจัดการ การใช้ระบบแฟรนไชส์ซึ่งมีลักษณะการบริหารแบบกระจายอำนาจให้เจ้าของร้านค้า ภายใต้ลิขสิทธิ์ของเจ้าของแฟรนไชส์ มีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับการขยายสาขา และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ เนื่องมาจากมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่มากกว่า นอกจากนี้ยังใช้การโฆษณาหรือการประชาสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวแต่ได้ผลลัพธ์คุ้มค่า
เครื่องมือที่สำคัญคือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ และการทำบัญชีบันทึกรายการเข้าออกสินค้าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริหารสินค้า และการจัดทำสินค้าคงคลัง เช่นระบบ P.O.S ที่สามารถบันทึกการขายสินค้าในแต่ละครั้งได้ในทันทีโดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัย ช่วยลดต้นทุนได้มาก
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยมของร้านค้าสมัยใหม่ ที่นำเอาการบริหารการจัดการ การตลาดและการโฆษณา มาใช้ร่วมกัน  ดังนั้น  ร้านค้าปลีกหรือร้านโชว์ห่วย ต้องตามให้ทันวิวัฒนาการของการค้าสมัยใหม่ และไม่หยุดนิ่ง ที่จะค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาร้านค้าของตนให้มีมาตรฐาน

6.เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

การเริ่มต้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่งหลายๆท่านคงเคยได้ยินประโยคนี้ การทำธุรกิจก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใด ย่อมต้องมีการเริ่มต้นที่ดี สำหรับร้านค้าปลีกแล้วการเลือกทำเลที่ตั้งคือการเริ่มต้นที่สำคัญ
เนื่องจากสินค้าหลักของร้านค้าปลีกคือของใช้ในชีวิตประจำวัน ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมของร้านค้าปลีกจึงควรตั้งอยู่ในชุมชนหรือสถานที่มีผู้คนผ่านไปมา เพื่อที่จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
ถ้าที่ร้านค้าปลีกของเราได้ทำเลที่ตั้งที่ดีแล้ว ก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าบริเวณใกล้เคียงมีร้านค้าปลีกอื่นที่ขายสินค้าใกล้เคียงกันหรือไม่ มากน้อยเท่าใด มีการตกแต่งอย่างไร และควรจะมีการสำรวจการตั้งราคาสินค้าของร้านค้าปลีกใกล้เคียงด้วย
นอกจากนี้แล้ว เรายังต้องพิจารณาถึงกลุ่มผู้บริโภคบริเวณนั้นด้วยว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มใด เช่น ถ้าเป็นกลุ่มแม่บ้าน เราต้องหาสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมาขายเป็นหลัก หรือถ้าเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องสุขภาพ เราก็ควรหาสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเข้ามาวางขาย เป็นต้น เมื่อเราสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ร้านค้าปลีกของเราก็จะมีลูกค้าประจำ ซึ่งทำให้มีรายได้ที่ต่อเนื่องและสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
การเดินทางเพื่อซื้อสินค้าของผู้บริโภคก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคส่วนมากคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางเป็นหลัก เช่น ถ้าหากร้านค้ามีลักษณะเป็นร้านขายส่ง หรือมีขนาดใหญ่ และลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกในการมใช้รถยนต์ เนื่องจากสภาพถนนบริเวณหน้าร้านมีการทำถนน ขุด เจาะ หรือไม่มีที่จอดรถไว้บริการ ลูกค้าก็จะหันไปซื้อจากร้านอื่นที่สะดวกกว่า เช่นเดียวกันกับกรณีที่มีการวางสินค้าเกะกะ มีทางเท้าแคบ หรือมีร้านหาบเร่แผงลอยบังหน้าร้าน ก็จะทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกและไม่อยากมาซื้อสินค้าที่ร้านเช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการท่านเดิมที่ต้องการเปิดร้านใหม่ หรือขยายสาขาเพิ่ม จึงควรที่จะคำนึงถึงทำเลที่ตั้งเป็นอันดับต้นๆ อย่างไรก็ตาม ทำเลหรือที่ตั้งไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของธุรกิจ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆที่สำคัญ เช่น การตกแต่งร้านค้าให้น่าสนใจ หรือหาสินค้าที่มีความแปลกใหม่มาดึงดูดลูกค้า และที่สำคัญคือการบริการที่ดี และความสุภาพของพนักงานในร้าน

 
7.หลัก 5 ประการที่ร้านค้าปลีกควรใส่ใจ


การประกอบธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันให้ประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และควรเริ่มทำความเข้าใจ ศึกษาถึงความต้องการของผู้บริโภค แล้วนำมาปรับปรุงการบริหารร้านของตนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
1.
การเสนอสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด
2.
การให้บริการที่เป็นมิตรหรือเป็นกันเอง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
3.
การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการสั่งซื้อ สต็อกคงเหลือ บัญชีรับจ่าย รายวัน
4.
การตกแต่งร้าน การจัดเรียงสินค้าอย่างเป็นหมวดหมู่ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการ
5.
การส่งเสริมการขาย ควรจัดให้มีบ้างตามโอกาสที่เหมาะสม เพื่อตอบแทนลูกค้าที่มาใช้บริการ ซึ่งจะเป็นการรักษาลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง

8.คัดเลือกสินค้าอย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค

1.
ความต้องการของผู้บริโภค โดยการคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคว่าเป็นกลุ่มใดเพื่อที่จะได้รู้ ถึงจะได้ตอบสนองความต้องการได้ถูกต้อง
2.
เลือกสินค้าที่หลากหลายยี่ห้อ กลิ่น สี รส ในตัวสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกยี่ห้อ สินค้านั้นควรเป็นสินค้าที่ขายดีหรือกำลังเป็นที่นิยม และควรหมั่นดูความเคลื่อนไหวของสินค้าตัวใดขายไม่ดีเมื่อหมดแล้ว ก็ไม่ควรนำมาจำหน่ายอีก และควรหาสินค้าใหม่ๆหมุนเวียนเข้ามาขายแทน เพื่อที่จะได้บริหารพื้นที่ขายให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3.
กำหนดราคาขาย ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า และควรสังเกตการตั้งราคาขายของร้านค้าบริเวณใกล้เคียง หรืออาจตั้งราคาขายที่ใกล้เคียงกับร้านค้าขนาดใหญ่ อาจเท่าหรือสูงกว่าเล็กน้อย และควรตั้งราคาให้สมเหตุผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค
ถ้าร้านค้าปลีกทำการบริหารสินค้าได้ดี และจำหน่ายสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว จะทำให้เกิดการหมุนเวียนสินค้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งลูกค้าก็จะได้สินค้าที่ใหม่และมีคุณภาพอยู่เสมอ

9.ค้าปลีกยุคใหม่ใส่ใจบริการ

การแข่งขันของร้านค้าปลีกคือการแข่งขันเพื่อให้ลูกค้ามาใช้บริการของตนให้มาที่สุด ความหลากหลาย หรือราคาสินค้าในร้าน อาจถือได้ว่าเป็นการแข่งขันเบื้องต้นเท่านั้น แต่ในระยะยาวแล้ว การที่จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจและเกิดการกลับมาซื้อหรือใช้บริการซ้ำอีกนั้น เป็นสิ่งที่ร้านค้าไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ต้องให้ความสำคัญ
ความต้องการของลูกค้าคือสิ่งสำคัญที่ร้านค้าไม่ควรละเลย การใช้กลยุทธ์หรือกลวิธีต่าง ๆ อาจทำให้ประสบผลสำเร็จในระยะสั้นเท่านั้น แต่การให้ความสำคัญกับลูกค้าโดยการเสนอสิ่งใหม่ๆ บริการที่ประทับใจ เป็นกันเอง มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ยินดีรับฟังคำตำหนิ ซึ่งเปรียบเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนความรู้สึกของลูกค้าได้เป็นอย่างดี เมื่อมีคำวิพากย์วิจารณ์ เราควรที่จะรับทราบและแก้ไขข้อบกพร่องนั้น ๆ บุคลากรของร้านเป็นสิ่งสำคัญที่จะสะท้อนถึงคุณภาพการบริการ ของแต่ละร้าน ดังนั้นเราจึงควรสร้างบรรยากาศในการทำงานให้บุคลากรมีทัศนคติที่ดีต่อการบริการและการขายสินค้า ให้ความรู้ด้านการปฏิบัติงาน เพื่อให้บุคลากรทำงานด้วยความเต็มใจส่งผลให้ลูกค้ามีทัศนคติที่ดีและอยากเข้ามาซื้อสินค้าตามไปด้วย เมื่อมีความสุขกับการทำงานและองค์กรแล้ว เงินก็จะเป็นปัจจัยรอง แต่เมื่อไรที่เริ่มรู้สึกไม่สนุกกับการทำงานมีทุกข์   เงินก็จะกลายเป็นปัจจัยหลัก

 

10. ค้าปลีกยุคใหม่ต้องจัดทำบัญชี

ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่เราเห็นส่วนมา มักไม่มีการบันทึกสินค้าเข้าออก และยอดขายในแต่ละวัน การทำบัญชีนั้นจัดได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากเราต้องรู้ว่ามีกำไรหรือขาดทุนในแต่ละวัน / เดือน เท่าไร สินค้าชนิดใดขายดี ขายไม่ดี ข้อมูลที่ได้จะสมารถนำมาใช้ในการตัดสินใจเพื่อการลงทุนหรือขยายกิจการในอนาคต การบันทึกข้อมูลที่เป็นระบบจะทำให้การบริหารงานง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพ กล่าวโดยสรุปร้านค้าควรบันทึกข้อมูลทุกอย่าง และนำตัวเลขที่ได้มาคำนวณเป็นรายรับ รายจ่าย ของแต่ละวัน หรือแต่ละเดือน นอกจากเราจะรู้ต้นทุน กำไรแล้วนั้น เราสามารถนำข้อมูลที่ได้มาบริหารสินค้าเข้าร้านได้ด้วยการวิเคราะห์ ว่าสินค้าใดขายดี และสินค้าใดขายไม่ดี
เทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราอย่างมาก ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ได้นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ ในการบริหารทางด้านบัญชี เพื่อลดต้นทุนทางการตลาด โดยนำคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปมาใช้ในการทำบัญชีและการบริหารสินค้า ทำให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน ร้านค้าปลีกขนาดเล็กก็ควรนำข้อดีดังกล่าวมาใช้พัฒนาธุรกิจของตน เพื่อให้ทัดเทียมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ 
11.การจัดร้านอย่างไรให้น่าเข้า และน่าซื้อ

ถ้านึกถึง ร้านโชว์ห่วย หลายคนคงนึกถึงร้านค้าที่มีสินค้าวางเต็มร้านจนไม่มีทางเดินเข้า ออก หรือเลือกซื้อสินค้าไม่สะดวก สิ่งเหล่านี้ต้องปรับปรุง
การจัดตกแต่งร้าน นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาร้านค้า เนื่องจากสิ่งที่ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ก่อนสิ่งอื่นคือ การจัดแสดงสินค้าในตู้กระจกหน้าร้านและทางเข้า จะเห็นได้ว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้มีการออกแบบที่ดีและน่าสนใจ ก็สามารถจูงใจลูกค้าเข้าร้านได้ ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการเลือกซื้อสินค้าจากร้านที่เป็นระเบียบ และสามารถเลือกได้เอง
1.
การจัดผังร้านที่ดี จะครอบคลุมพื้นที่ภายในร้านทั้งหมด การวางผังสินค้าในร้านให้เหมาะสม เพื่อให้ลูกค้าเดินไปยังจุดที่เราต้องการให้ลูกค้าเดินดูสินค้าได้ทั่วถึง แสงสว่างต้องเพียงพอ อากาศปลอดโปร่ง ไม่มีมุมอับ เพื่อให้ร้านดูน่าเข้า และร้านค้าเองจะได้ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2.
การจัดเรียงสินค้าให้ต่อเนื่อง สินค้าที่สัมพันธ์กันให้อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน จะเพิ่มความสะดวกสบาย เช่น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน สินค้าบางอย่างลูกค้าไม่ตั้งใจซื้อหรือไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า เช่น ลูกอม กระดาษทิชชู หมากฝรั่ง เหล่านี้ควรจัดวางไว้ในที่เห็นได้ชัด ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อโดยฉับพลัน

12.บริหารพื้นที่ขายอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การบริหารพื้นที่ขายเป็นกลยุทธ์หนึ่งสำหรับร้านค้าปลีก ที่ควรนำมาใช้เพื่อจัดสรรพื้นที่สำหรับสินค้าที่มีระดับการหมุนเวียนและผลกำไรต่างกัน รวมทั้งคำนึงถึงสัดส่วนและทิศทางเดินของลูกค้าที่เหมาะสม ลูกค้าส่วนใหญ่จะเดินวนตามเข็มนาฬิกา การกำหนดพื้นที่ของร้าน เป็นการจัดสรรพื้นที่ แบ่งเป็นทางเดิน ชั้นวางสินค้า เคาน์เตอร์แคชเชียร์ หรือแม้กระทั่งตู้แช่สินค้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การวางผังร้าน เป็นการกำหนดทิศทางเดินของลูกค้า นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ลูกค้าเห็นสินค้าทั้งหมด สามารถเลือกสินค้าได้ง่าย ควรจะกำหนดทางเดินให้ลูกค้าอยู่ในร้านนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคำนึงถึงความสะดวกของลูกค้าเป็นหลัก การจัดเรียงสินค้าที่เป็นหมวดหมู่
การออกแบบและการตกแต่งภายในร้าน เป็นเทคนิคที่สำคัญที่ทำให้ลูกค้าอยากเข้าร้าน โดยการตกแต่งร้านตามเทศกาลต่าง ๆ การติดป้ายประดับ เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ

 
13.ค้าปลีกยุคใหม่ต้องเข้าใจการส่งเสริมการขาย


การส่งเสริมการขาย จัดได้ว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่นำมาใช้เพื่อจูงใจผู้บริโภค การส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นความต้องการซื้อ โดยปกติแล้วจัดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ดังนั้นร้าค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อมจะยืนอยู่ได้จะต้องมีการจัดการส่งเสริมการขายด้วยเพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการและจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการ
สิ่งแรกของการส่งเสริมการขายคือ การวิเคราะห์ทางด้านการตลาด คือ การรวบรวมความต้องการของลูกค้าและแนวโน้มพฤติกรรมของลูกค้าในอนาคตว่าต้องการอะไร
การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ คือ การศึกษาคุณลักษณะความคงทนของสินค้า
การวิเคราะห์คู่แข่งขันและสิ่งแวดล้อม คือ การวิเคราะห์ปัจจัยทั่วไปที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายสินค้าของเรา
เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วนำมาวิเคราะห์และจัดทำการส่งเสริมการขาย เช่น การลดราคา แถมสินค้า หรือการแลกซื้อ ในบางครั้งเราอาจเห็นว่าการส่งเสริมการขายจะทำให้มีกำไรลดลง หรือต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เมื่อพิจารณายอดขายที่เพิ่มขึ้นแล้ว อาจทำให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก

 
14.สร้างความแตกต่างด้วยสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ “One Tambon One Product (OTOP)”


เพื่อเป็นการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นและสร้างชุมนที่เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างรายได้ด้วยตนเอง โดยการนำทรัพยากรธรรมชาติที่เรารู้จักกันดีในนามภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ร้านค้าปลีกชุมชนคือช่องทางการกระจายสินค้าให้ไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรง และเป็นช่องทางการตลาดที่กว้าง สำหรับรองรับสินค้าจาก OTOP มีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนสินค้าในแต่ละภูมิภาค ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ ชุมชนมีงานทำ คนในท้องถิ่นจะได้ไม่ต้องออกไปหางานทำยังต่างถิ่น

 
15.กล้าคิดกล้าทำ


ร้านค้าปลีกปัจจุบันต้องมีการปรับตัวอย่างทันสมัย กล้าที่จะคิดเปลี่ยนแปลงและลงมือปรับปรุงร้านของตนเอง ให้ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเก็บข้อมูล มีการศึกษาค้นคว้าไม่หยุด พัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดเวลา จึงทำให้ร้านของเราอยู่รอดและยั่งยืนตลอดไป
Credit:  http://www.sunstore2002.com/

One Response so far.

  1. ไม่ระบุชื่อ says:

    นี่คือประกาศสาธารณะสำหรับทุกคนที่ต้องการขายไตเรามีผู้ป่วยที่ต้องการการปลูกถ่ายไตดังนั้นหากคุณสนใจที่จะขายไตโปรดติดต่อเราทางอีเมลของเราที่ iowalutheranhospital@gmail.com
    นอกจากนี้คุณยังสามารถโทรหรือเขียนถึงเราได้ที่ whatsapp ที่ +1 515 882 1607

    หมายเหตุ: รับประกันความปลอดภัยของคุณและผู้ป่วยของเราได้ตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวนมากให้กับทุกคนที่ตกลงที่จะบริจาคไตเพื่อช่วยพวกเขา เราหวังว่าจะได้ยินจากคุณเพื่อให้คุณสามารถช่วยชีวิต

Leave a Reply

Lor separat

jdjukrkkr

Video

Followers